เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญเกี่ยวกับ ผลของนิติกรรมที่ลูกหนี้ล้มละลายกระทำหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยอธิบายประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญและหลักการตีความตามกฎหมายล้มละลายและกฎหมายแพ่ง กรณีหากลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด กระทำนิติกรรมใด ๆ โดยฝ่าฝืนกฎหมายล้มละลาย จะทำให้ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะโดยชัดแจ้ง ตามมาตรา 150 และหากคู่กรณีได้รับประโยชน์จากโมฆะกรรมนั้นโดยปราศจากมูลอันชอบด้วยกฎหมาย ต้องคืนลาภมิควรได้ ตามมาตรา 406
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2562 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้ว จึงมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาล ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 อีกทั้งการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ และทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับ ก. ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะไม่ได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 การกู้เงินและการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 หนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และมาตรา 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
เมื่อการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จากโจทก์ รวมทั้งการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ได้กระทำขึ้นหลังจากจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไว้เด็ดขาดแล้ว การกู้ยืมและการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม และถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้จึงต้องรับผิดคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ ก. และชำระหนี้ให้จำเลยที่ 3 ไปแทน ก. ให้แก่โจทก์ทั้งหมด โดย ก. ซึ่งเป็นผู้ได้รับเงินที่โจทก์ชำระส่วนหนึ่งไปเป็นค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่จำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้และไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ต้องร่วมรับผิดในการคืนเงินแก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ก. ต้องรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ สำหรับจำเลยที่ 3 แม้มีส่วนได้รับเงินจากโจทก์แต่ก็เป็นการได้รับเงินที่จ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 แทน ก. ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำขึ้น จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ทั้งเป็นการที่จำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไว้โดยสุจริต และได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ก. ไปแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดแก่โจทก์
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ จึงไม่ชอบ ตามกฎหมายและมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ป.พ.พ. ม. 150, ม. 172, ม. 406 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22, ม. 24, ม. 25, ม. 27, ม. 91, ม. 94
จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์ทั้งจำนวน คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม หลักลาภมิควรได้ (มาตรา 406)
จำเลยที่ 2 (ทายาทของผู้ขายที่ดิน) ต้องรับผิด ภายในขอบเขตของทรัพย์มรดก เท่านั้น * ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 และ 1733
จำเลยที่ 3 (ธนาคารผู้รับไถ่ถอนจำนอง) ไม่ต้องรับผิด เพราะรับชำระหนี้โดยสุจริตและหนี้มีอยู่จริง
ข้อสังเกต นิติกรรมที่ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22, 24 เป็นโมฆะโดยชัดแจ้ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา150 เพราะโมฆะกรรมไม่อาจให้รับรองภายหลังได้
หมายเหตุ การปรับใช้บทกฎหมายขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงรายกรณีไป
อ้างอิง กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ,ประมวลกฎหมาย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ติอต่อ ⚖️
เพจ Facebook : บริษัทกฎหมายจักรพงษ กิมติน
เพจ Facebook : ทนายแพรว ดาวัลย์
www : chakphongklawfirm.com
📞 0949751151,0625432502